Connect with us

ข่าว/ดูดวง/แจกเลข/ทำนายฝัน

ตำนาน อาถรรพณ์และความเป็นมาของ “ป่าคำชะโนด” ดินแดนพญานาค

Published

on

ตำนานความเป็นมาของคำชะโนด

ตำนานความเป็นมาของคำชะโนด เดิมสถานที่คำชะโนดตั้งอยู่ในความดูแลของ ตำบลบ้านม่วง จังหวัดอุดรธานี จากอดีตจนถึงปัจจุบันจากตำนานการเล่าขานสืบกันมา ซึ่งในช่วงที่ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มาถึงช่วงที่ได้มีการบันทึกประวัติความเป็นมาแบบลายลักษณ์อักษรโดยการสืบค้นจากการเล่าขานจากคนรุ่นก่อนมาเป็นช่วงๆสืบต่อกันมา

คำชะโนด ตำนานกล่าวว่า เมืองคำชะโนดนี้ได้เล่าขานสืบต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า จนถึงปัจจุบัน เมืองคำชะโนดตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองอำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่บ้านโนนเมืองหมู่ที่ 11 ตำบลบ้านม่วง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้มีผู้คนย้ายถิ่นที่อยู่มาอาศัยเดิม เดินทางมาก่อสร้างครอบครัวที่บ้านโนนเมือง ระยะทางห่างจากอำเภอบ้านดุงประมาณ 21 กิโลเมตร พื้นที่รอบๆบริเวณเป็นแหล่งน้ำคลำ มีต้นไม้เกิดขึ้นภายในบริเวณเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ต้นไม้ชนิดนี้เรียกว่าต้นชะโนด มีลักษณะพิเศษคล้ายต้นตาล แต่ขนาดลำต้นสูงยาวเรียวเล็กกว่าต้นตาล ขนาดก็พอๆกับต้นมะพร้าว ก้านใบจะมีหนามแหลมยาวคม ใบจะมีลักษณะคล้ายใบตาล เวลาต้องลมจะเกิดเสียงและวังเวง ต้นชะโนดมีผลเป็นพวงลูกเล็กเท่าพวงองุ่นเล็ก บริโภคไม่ได้ ถ้าบริโภคจะมีอาการคันปาก ต้นชะโนดเป็นพืชที่เกิดจากธรรมชาตินับเป็นเวลาหลายพันปีคนรุ่นเก่าก่อนได้เรียกพืชชนิดนี้สืบทอดกันมาเรียกว่า ต้นชะโนด และเชื่อว่าเมืองชะโนด สันนิษฐานว่าคงจะเรียกตามชื่อต้นชะโนดสำหรับสัตว์และพืชที่อยู่ในบริเวณที่แห่งนี้จะมีพืชหลากหลายชนิด เช่น ไผ่ หวายน้ำ ผักกูด ผักชีช้าง หญ้าปล้อง หญ้าไซ บัวบก(ผักหนอก) ต้นเดื่อ ต้นไทร ต้นหว้า พืชที่กล่าวมานี้ ในอดีตที่ผ่านมามีจำนวนมากมาย แต่ปัจจุบันมีเหลืออยู่ให้เห็นไม่มาก ในอดีตจนถึงปัจจุบันจากการเล่าขานสืบต่อมามีสัตว์นานาชนิดทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ และจำพวกครึ่งบกครึ่งน้ำซึ่งคนรุ่นคุณปู่คุณย่าหลายชั่วอายุ เรียกบริเวณนี้ ว่า ป่าช้างดงเสือ เพราะในอดีตที่ผ่านมามีสัตว์เกือบทุกประเภทอาศัยอยู่ ปัจจุบันทั้งพืชและสัตว์เหล่านั้น ได้สูญพันธ์ไปเป็นส่วนมากมีที่เหลือให้เห็นอยู่บางชนิด มีจำนวนน้อย คำชะโนด วังนาคินทร์ แดนนาคา หรือเมืองชะโนด มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เจ้าศรีสุทโธ เป็นพญานาค ครองเมืองหนองกระแสครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งก็เป็นพญานาคเช่นเดียวกัน ชื่อสุวรรณนาค เป็นผู้ครองอีกครึ่งหนึ่งต่างฝ่ายก็มีบริวารฝ่ายละ 5,000 เหมือนกัน ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ไม่มีปัญหาทะเลาะกัน มีความรักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นเพื่อนตายกันมาโดยตลอด ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงกันอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไปล่าสัตว์นำมาเป็นอาหาร อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องออกไป เพราะเกรงว่าบริวารไพร่พลจะมีการกระทบกระทั่งกันอาจจะเกิดการรบราฆ่าฟันกัน แต่ก็ตั้งกฏิกาอีกว่า ถ้าฝ่ายที่ออกไปล่าสัตว์ ให้นำเนื้อสัตว์มาแบ่งปันกัน ฝ่ายละเท่าๆกัน แบ่งครึ่งต่อครึ่งทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ด้วยกันโดยสงบสุขตลอดมา

เหตุมันจะเกิด มันต้องเกิด อยู่มาวันหนึ่ง สุทโธนาค พาบริวารไพร่พลออกไปล่าสัตว์ได้ฆ่าช้างนำมาเป็นอาหาร ก็ได้แบ่งให้สุวรรณนาคตามสัญญาการแบ่งปันครึ่งต่อครึ่ง พร้อมกับมอบขนช้างให้ดูไว้เป็นหลักฐาน ทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้กินเนื้อช้างอย่างอิ่มหนำสำราญ ต่อมาอีกวันหนึ่ง สุวรรณนาค ได้พาบริวารไพร่พลออกไปล่าสัตว์อีกได้เม่นมา สุวรรณนาคได้แบ่งให้สุทโธนาค ตามสัญญาครึ่งต่อครึ่งเหมือนเดิม พร้อมกับมอบขนเม่นให้ดูไว้เป็นหลักฐาน จะมีอะไรเกิดขึ้น ตัวเม่นตัวไม่ใหญ่ แต่มีขนยาว แข็ง ใหญ่ ปลายขนแหลม เม่นตัวเล็กเวลาแบ่งเนื้อเม่นให้สุทโธนาคก็ได้น้อย สุทโธนาคพิจารณาดูว่า 600 ขนาดขนของช้างเล็ก ยาวเรียว ตัวยังใหญ่โต แต่เม่นขนยาว แข็งใหญ่ ตัวเม่นจะใหญ่ขนาดไหน ถึงอย่างไรสุทโธนาคบอกว่าตัวเม่นต้องใหญ่กว่าช้างแน่นอน คิดได้อย่างนี้เลยให้เสนาอำมาตย์นำเนื้อเม่นซึ่งสุวรรณนาคได้แบ่งปันแล้วส่งกลับคืนไปให้สุวรรณนาค ข้าพเจ้าไม่รับแล้วพร้อมบอกฝากกับเสนาอำมาตย์ ไปบอกกับสุวรรณนาคว่า ข้าพเจ้าไม่ขอรับเนื้อเม่นที่เป็นส่วนแบ่งที่ไม่เป็นธรรมจากเพื่อนที่ไม่ซื่อสัตย์ ฝ่ายสุวรรณนาคได้ทราบเรื่องจากเสนาอำมาตย์จึงได้เดินทางไปพบสุทโธนาค เพื่อชี้แจงให้ทราบว่าเม่น ขนมันยาว แข็ง ใหญ่ แต่ตัวมันเล็ก ขอให้สุทโธนาค รับเนื้อเม่นไว้กินเถอะ สุวรรณนาคไม่สามารถพูดให้ สุทโธนาคเข้าใจและเชื่อว่าเม่นกับช้างต่างกัน สุดท้ายทั้ง 2 ฝ่ายไม่เข้าใจกันและไม่มีทางเลือกอื่น จึงประกาศทำสงครามกันขึ้น ฝ่ายสุทโธนาคที่มีความโกรธแค้นสุวรรณนาคตั้งแต่เห็นเนื้อเม่นอยู่แล้ว ไม่รอช้าสั่งการให้มีการระดมไพร่พลรุกรบทันที ฝ่ายสุวรรณนาค ก็รีบเรียกระดมไพร่พลรับการต่อสู้เช่นเดียวกัน ตามที่ได้เล่าขานกันมา พญานาคทั้ง 2 สู้รบกันอยู่ถึง 7 ปี ต่างฝ่ายต่างเมื่อยล้า ต่างสูญเสียไพร่พลไปเท่าๆกันเพราะต่างฝ่ายต่างจะเอาชนะกันให้ได้ เพื่อจะได้ครองความเป็นใหญ่ในหนองกระแสเพียงฝ่ายเดียว ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในหนองกระแสเสียหาย เดือดร้อนไปตามกัน ทำให้เหล่าเทวดาเดือดร้อนไปทั้งสามภพ

ความเดือดร้อนทั้งหลายได้ทราบไปถึงพระอินทร์ผู้เป็นใหญ่ สืบเนื่องจากเทวดาน้อยใหญ่ได้ไปเฝ้าพระอินทร์เพื่อร้องทุกข์และเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พระอินทร์ได้ฟัง เมื่อพระอินทร์ได้ฟังความเดือดร้อนจากเหล่าเทวดาจึงได้หาวิธีการที่จะให้พญานาคทั้งสองฝ่ายหยุดสู้รบกัน เพื่อความสงบสุขของไตรภพ พระอินทร์จึงได้เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลงมาที่มนุษย์โลก ที่หนองกระแส ต้นเหตุที่เป็นสถานที่สร้างความเดือดร้อน ซึ่งพระอินทร์ได้ตรัสเป็นราชโองการว่า ให้ท่านทั้งสองจงหยุดรบกันเดียวนี้ ในการทำสงครามครั้งนี้ถือว่าทั้งสองฝ่ายเสมอกันกำหนดให้หนองกระแสเป็นเขตปลอดสงคราม และให้พญานาคทั้งสองพากันสร้างแม่น้ำให้ได้ฝ่ายละหนึ่งสาย โดยเริ่มจากหนองกระแสใครสร้างถึงทะเลก่อนจะมอบปลาบึกให้อยู่ในแม่น้ำแห่งนั้นเพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทของพญานาคทั้งสองจึงกำหนดให้ภูเขาไฟเป็นเขตกั้น ใครข้ามไปรุกรานใครก่อนขอให้ไฟจากภูเขาพญาไฟไหม้ฝ่ายรุกรานก่อนเป็นจุลหายไปในทันที เมื่อพระอินทร์ได้ตรัสเป็นราชโองการแล้ว สุทโธนาคก็พาไพร่พลอพยพจากหนองกระแสเริ่มสร้างแม่น้ำมุงหน้าไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส เมื่อสร้างไปถึงที่ใดคดโค้งก็สร้างไปตามนั้น ตามความยากง่ายในการสร้าง เพราะสุทโธนาคเป็นผู้ที่ใจร้อน แม่น้าที่สุทโธนาคสร้างจึงเรียกว่า แม่น้ำโขง คำว่าโขงมาจากคำว่าโค้ง ซึ่งหมายถึง ไม่ตรง(คดเคี้ยว) ฝั่งประเทศลาวเรียกว่า “แม่น้ำของ”ส่วนสุวรรณนาคเมื่อได้รับราชโองการจากพระอินทร์ก็พาบริวารไพร่พลอพยพ จากหนองกระแสสร้างแม่น้ำมุ่งตรงไปยังทิศใต้ของหนองกระแส สุวรรณนาคเป็นผู้ที่ตรง พิถีพิถันและมีความใจเย็นการสร้างมีน้ำจึงต้องให้ตรง เพื่อที่จะสร้างให้ถึงจุดหมายปลายทางก่อน ตนเองจะเป็นฝ่ายชนะ จึงเรียกชื่อแม่น้ำที่สร้างชื่อว่า แม่น้ำน่าน เป็นแม่น้ำที่ตรงกว่าแม่น้ำทุกสายในประเทศไทยในการสร้างแม่น้ำผลปรากฏว่า สุทโธนาคสร้างแม่น้ำเสร็จก่อนตามสัญญาที่ให้ไว้กับพระอินทร์ ดังนั้นปลาบึกจึงอยู่ในแม่น้ำโขง ตามคำบอกเล่าต่อๆกันมา และถ้าเอาน้ำจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำน่านมาผสมกัน เก็บไว้ในขวดเดียวกันจะทำให้ขวดแตก แต่กรณีนี้ยังไม่มีคำกล่าวขานเป็นตำนานว่ามีผู้คนกระทำ

เมื่อสุทโธนาคได้สร้างแม่น้ำโขงเสร็จแล้วก็มีปลาบึกในแม่น้ำโขงที่เป็นฝ่ายสร้างแม่น้ำชนะสุวรรณนาคตามสัญญาจึงได้แสดงอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ เดินทางไปเฝ้าพระอินทร์ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วก็ทูลขอถามพระอินทร์ว่า ตัวข้าพเจ้าเป็นชาติเชื้อพญานาค ถ้าจะอยู่บนโลกกับมนุษย์นานเกินไปก็ไม่ได้หรอก จึงขออนุญาตจากพระอินทร์ให้มีทางขึ้น-ลง ระหว่างโลกมนุษย์กับบาดาลเอาไว้ 3 แห่ง และทูลถามพระอินทร์ว่าจะให้สุทโธนาคครอบครองอยู่ตรงไหน พระอินทร์ก็อนุญาตให้มีทางขึ้น-ลง ของพญานาคไว้ 3 แห่ง คือ 1. ทางขึ้น-ลง แห่งแรก คือ พระธาตุหลวงนครเวียงจันทน์ ในปัจจุบัน 2. ทางขึ้น-ลง แห่งที่สอง คือ หนองคันแทเสื้อน้ำ ปัจจุบันคือ ดอนกำ 3. ทางขึ้น-ลง แห่งที่สาม คือ พรหมประกายโลก คือ คำชะโนด ในปัจจุบัน
ทางขึ้น-ลง แห่งที่ 1 และ 2 เป็นทางขึ้นลงสู่เมืองบาดาลของพญานาคเท่านั้น ส่วนแห่งที่ 3 พรหมประกายโลกคือ พรหมได้กลิ่นไอดิน แล้วพรหมเทวดาลงมากินดิน จนหมดฤทธิ์ กลายร่างเป็นมนุษย์ หรือผู้ให้กำเนิดมนุษย์ ให้สุทโธนาคตั้งบ้านเมืองครอบครองซึ่งมีต้นชะโนดเกิดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ที่นำเอาต้นมะพร้าว ต้นหมาก ต้นตาลมาผสมพันธ์เชื่อว่าว่าเป็นต้นไม้บรรพกาล โดยให้สุทโธนาคมีลักษณะและเป็นอยู่ใน 30 วันดังนี้ คือ ข้างขึ้น 15 วัน ให้สุทโธนาคและบริวารกลายร่างเป็นมนุษย์ เรียกว่า เจ้าพญาศรีสุทโธ มีวังนาคินทร์เป็นที่พักอาศัยและอีก 15 วันข้างแรม ให้สุทโธนาคพร้อมบริวารกลายร่างเป็นนาค เรียกว่า พญานาคราชศรีสุทโธ โดยอาศัยในเมืองใต้บาดาลตั้งแต่นั้นมาจนถึงพุทธกาลจากปี พ.ศ. 2500 ถอยหลังไป ชาวบ้านม่วง ชาวบ้านเมืองไพร ชาวบ้านวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี จะพบเห็นชาว เมืองคำชะโนดทั้งหญิงและชายบ่อยครั้งในลักษณะที่ไปยืมเครื่องทอผ้าที่เรียกว่า หูก ที่มีไม้ทอผ้าคือฟืม ไปทอผ้าอยู่บ่อยครั้งและปาฏิหาริย์น้ำท่วมใหญ่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงปี พ.ศ. 2519 รวมถึงพื้นที่ในอำเภอบ้านดุงทุกพื้นที่ แต่น้ำไม่ท่วมถึงบริเวณคำชะโนด ปาฏิหาริย์อีกครั้งหนึ่ง นายคำตา ทองสีเหลือง ซึ่งเป็นชาวบ้านวังทอง ตำบลวังทอง อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ในปัจจุบัน ได้เกิดความคลุ้มคลั่งอยู่ ประมาณ 1 สัปดาห์ ญาติพี่น้องได้ทำการรักษาทางเวทย์มนต์ซึ่งรียกว่า หมอธรรม ญาติพี่น้องได้ดูแลรักษา และระวังเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด แต่ไม่รู้ว่าการเฝ้าดูพลั้งเผลออย่างไร นายคำตา ทองสีเหลือง หายไปแบบไม่รู้สาเหตุว่าไปไหน ไม่มีคนรู้ ต่อมาประมาณสัก 6 ชั่วโมงได้ นายคำตา ทองสีเหลืองได้กลับมา ญาติพี่น้องกำลังอยู่ในอาการที่ตกใจว่าหายไปไหนมา ไปได้อย่างไร นายคำตา ทองสีเหลือง ก็ได้เล่าเหตูการณ์ให้ฟังว่า ตนเองได้ไปที่เมืองคำชะโนด เจ้าพญาศรีสุทโธได้จัดให้มีการแข่งขันเรือและประกวดชายงามที่เมืองคำชะโนด และเล่าเรื่องเมืองคำชะโนดให้ญาติพี่น้องฟังทั้งหมด ผลการประกวดชายงามได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1 เมืองคำชะโนดเป็นเมืองที่สวยงามวิจิตร พิสดาร แตกต่างจากบ้านเมืองเรามาก ผู้คนแต่งกายเรียบร้อยสวยงามมาก ผู้หญิงแต่งกายชุดสีขาว ผู้ชายสวมใส่ชุดจงกระเบน ปาฏิหาริย์ครั้งต่อมาซึ่งเกิดขึ้นผ่านมาประมาณ 20 ปีคือ เหตุการณ์ผีจ้างหนัง โดยการได้รับการบอกเล่าจากบริการฉายภาพยนตร์คือ แจ่มจันทร์ภาพยนตร์

คำชะโนด มีลักษณะเป็นเกาะกลางน้ำ หนองน้ำมีต้นชะโนดเกิดขึ้นรวมกันเป็นกลุ่ม ในพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่แทบจะไม่มีในประเทศไทย ถือว่าที่นี่เป็นแห่งเดียว ที่พบและมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ภายในเกาะคำชะโนดยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธ์เรียกว่า บ่อคำชะโนด เป็นน้ำใต้ดินที่ใส ซึ่งทางจังหวัดอุดรธานีได้เลือกจากบ่อน้ำนี้นำไปร่วมพิธีสำคัญๆเสมอ และยังมีศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ ที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์และมีปาฏิหาริย์ให้ได้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความเชื่อว่าเป็นสถานที่อาศัยของพญานาคราชและใช้เส้นทางขึ้น-ลงติดต่อระหว่างเมืองบาดาลกับเมืองมนุษย์ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ในคำชะโนด มีความเชื่อว่าเป็นทางขึ้นลงของพญาสุทโธนาค เสด็จจากเมืองบาดาลขึ้นมาเมืองมนุษย์ และเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อไปสวรรค์แต่ก่อนมีลักษณะเป็น รูปทรงกลม ปัจจุบันได้ปรับปรุงบริเวณรอบบ่อมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม เมื่อปี พ.ศ. 2530 ซึ่งทางจังหวัดอุดรธานีได้เลือกเอาน้ำในบ่อศักดิ์สิทธิ์ ไปร่วมพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม ณ มณฑลพระราชพิธีท้องสนามหลวงทุกปี

คำชะโนด หรือพรหมประกายโลก เป็นสถานที่พรหมและเหล่าเทวดาลงมากินดินจนหมดฤทธิ์ไม่สามารถกลับสู่สวรรค์ได้ แต่ยังมีฤทธิ์ มีอำนาจเหนือมนุษย์เป็นลักษณะกึ่งเทพกึ่งมนุษย์ สามารถปรากฏกายให้มนุษย์มองเห็นตัวได้ ซึ่งพรหมเหล่านั้นชาวบ้านเรียกตามความเชื่อว่า ผีบังบด หรือ เทพบังบด ซึ่งมีตำนานเล่าขานสืบทอดมาตลอดว่าผีบังบดมายืมฟืมทอผ้าที่บ้านเมืองไพร นายคำตา ทองสีเหลือง ถูกนำตัวไปแข่งประกวดชายงามที่เมืองบาดาล ผีจ้างหนัง

จากตำนานบอกเล่า ของหลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ วัดธาตุมหาชัยจังหวัดนครพนม บอกว่าทางฝั่งไทยมีกษัตริย์แห่งนาคราชหรือนาคาธิบดีเป็นผู้ปกครอง ฝั่งลาวมีพญาศรีสัตตนาคราชหรือนาคาธิบดีศรีสัตตนาคราช เป็นกษัตริย์แห่งนาคราชฝั่งลาว เป็นพญานาค 7 เศียร ฝั่งไทยคือพญาศรีสุทโธนาคราชหรือนาคาธิบดีศรีสุทโธ ซึ่งท่านชอบจำศีล บำเพ็ญเพียร และปฏิบัติธรรม มีนิสัยอ่อนโยน มีเมตตา ไม่ชอบการต่อสู้ ชอบไปปฏิบัติธรรมที่พระธาตุพนม ในช่วงที่ปฏิบัติธรรมที่พระธาตุพนมก็ให้เหล่าพญานาค 6 อำมาตย์ดูแลเมืองคำชะโนดแทน หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ ได้บอกชื่อ 6 อำมาตย์พญานาคไว้เพียง 3 ชื่อคือ 1. พญาจิตรนาคราช ดูแลเขตการปกครองจากตาลีฟูถึงหนองคายตามแนวแม่น้ำโขงโดยมีเขตปกครองสิ้นสุดที่วัดหินหมากเป้ง 2. พญาโสมนาคราช ดูแลเขตการปกครองจากวัดหินหมากเป้งไปสิ้นสุดเขตการปกครองที่วัดพระธาตุพนม แก่งกะเบา ท่านมีอุปนิสัยเหมือนกับพญาศรีสุทโธนาคราชคือชอบปฏิบัติธรรม จึงเป็นที่ไว้วางใจและโปรดปรานจากพญาศรีสุทโธนาคราชมากกว่าพญานาคอื่นๆ 3. พญาชัยยะนาคราชมีเขตการปกครองจากแก่งกะเบาไปสิ้นสุดเขตการปกครองที่ปากน้ำโขงลงทะเลในเขมร พญานาคตนนี้มีฤทธิ์เดชมาก ชอบการสู้รบ ทำสงคราม เป็นนิสัย

Continue Reading
Click to comment

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *